รู้จัก “บ้านผีเสื้อ” ต้นแบบบ้านพลังงานสะอาด ผลิตไฟใช้เอง 100% จากโซลาร์และไฮโดรเจน

Sustainability

Tech For Sustainability

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

รู้จัก “บ้านผีเสื้อ” ต้นแบบบ้านพลังงานสะอาด ผลิตไฟใช้เอง 100% จากโซลาร์และไฮโดรเจน

Date Time: 17 ม.ค. 2568 14:48 น.

Video

“BOYY” From Bangkok to Milan | BrandStory Exclusive EP.16

Summary

  • ครบรอบ 10 ปี "บ้านผีเสื้อ" ต้นแบบบ้านพลังงานสะอาดที่ใช้ระบบพลังงานไฮบริดพลังงานแสงอาทิตย์-ไฮโดรเจน เป็นพลังงานหมุนเวียน 100% โดยไม่พึ่งพากระแสไฟฟ้า นับว่าเป็นโครงการอาคารบ้านพักอาศัยแห่งแรกที่บูรณาการใช้พลังงาน Green Hydrogen โดยจะมีการนำพลังงานสะอาดนี้มาขับเคลื่อนระบบไฟฟ้าในบ้านตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งเป้าผลักดันการใช้งานพลังงานไฮโดรเจนทั่วโลก สร้างโซลูชันพลังงานแห่งอนาคต โดยเฉพาะสำหรับพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่ที่จำเป็นต้องพึ่งพาตนเอง

Latest


เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี โครงการ “บ้านผีเสื้อ” หรือ “Phi Suea House Project” จังหวัดเชียงใหม่ โครงการอาคารบ้านพักอาศัยที่ใช้พลังงานกรีนไฮโดรเจน (Green Hydrogen) เป็นโครงการบุกเบิกในการพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน ได้จัดงาน “Hydrogen Summit 2025” พร้อมเปิดให้ชมบ้านผีเสื้อ เผยแนวทางการพัฒนาโครงการ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีไฮโดรเจน และเปิดเวทีสำหรับผู้เชี่ยวชาญมาร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการส่งเสริมเศรษฐกิจไฮโดรเจนทั้งในประเทศไทยและในระดับนานาชาติ

“บ้านผีเสื้อ” คืออะไร?

“บ้านผีเสื้อ” เป็นโปรเจกต์นำร่องอาคารบ้านที่พักอาศัยขนาด 18 ไร่ ที่มีการใช้ระบบพลังงานไฮบริดพลังงานแสงอาทิตย์-ไฮโดรเจน เป็นพลังงานหมุนเวียน 100% โดยไม่พึ่งพากระแสไฟฟ้า นับว่าเป็นโครงการอาคารบ้านพักอาศัยแห่งแรกของโลกที่บูรณาการใช้พลังงาน Green Hydrogen โดยจะมีการนำพลังงานสะอาดนี้มาขับเคลื่อนระบบไฟฟ้าในบ้านตลอด 24 ชั่วโมง

เซบาสเตียน-ยุสตุส ชมิดท์ ผู้ก่อตั้งบ้านผีเสื้อ
เซบาสเตียน-ยุสตุส ชมิดท์ ผู้ก่อตั้งบ้านผีเสื้อ

บ้านผีเสื้อ ตั้งอยู่ที่อำเภอสันผีเสื้อ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบ้านพักส่วนตัวของครอบครัว เซบาสเตียน-ยุสตุส ชมิดท์ อดีตวิศวกรซอฟต์แวร์ชาวเยอรมัน ผู้ก่อตั้ง Enapter บริษัทผู้ผลิต Hydrogen Electrolyzers (หรือ AEM Electrolyser) และเป็นผู้ก่อตั้งบ้านผีเสื้อตามแพชชั่นและความสนใจเทคโนโลยีพลังงานไฮโดรเจน จึงได้มีแนวคิดที่จะสร้างที่พักอาศัยแบบพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนขึ้น

ภายในพื้นที่อาศัยจะประกอบไปด้วย บ้านพักหลังใหญ่ อาคารระบบพลังงาน 1 หลัง บ้านพักสำหรับผู้มาเยือน 2 หลัง สระว่ายน้ำ พื้นที่สวน บ่อน้ำ และพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ซึ่งทั้งหมดใช้ไฟฟ้าจากที่ผลิตเองทั้งหมด

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา นับแต่ก่อตั้งเมื่อ 2015 บ้านผีเสื้อก็ได้มีการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% โดยไม่พึ่งพากระแสไฟฟ้ามาโดยตลอด ซึ่งระบบการทำงานของบ้านผีเสื้อคือ การใช้โซลาร์เซลล์ผลิตพลังงานไฟฟ้าในช่วงกลางวัน โดยจะเป็นการใช้งานแบบทันที ขณะเดียวกันพลังงานส่วนเกินจากระบบโซลาร์ร่วมกับน้ำ (H2O) ก็จะถูกนำมาแยกไฮโดรเจนผ่านเครื่อง Electrolyzer ก่อนที่ไฮโดรเจนจะถูกกักเก็บไว้ในถังในรูปแบบก๊าซ เพื่อนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าต่อในเวลากลางคืน

ซึ่งไฮโดรเจนที่ได้จะเป็น Green Hydrogen เพราะผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ และระบบนี้จะไม่มีการปล่อยของเสียหรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเลย ซึ่งในเวลากลางคืนหรือช่วงที่มีแสงแดดน้อย ไฮโดรเจนที่เก็บไว้จะถูกแปลงกลับเป็นกระแสไฟฟ้าโดยใช้ระบบเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (Fuel Cell) เมื่อไฮโดรเจนรวมกับออกซิเจน ก็จะเป็นไฟฟ้ากับน้ำ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ทำให้มั่นใจได้ว่ามีการใช้พลังงานที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างสมบูรณ์

ภาพมุมบนของบ้านพักหลังใหญ่ ด้านหลังเป็นพื้นที่ปลูกพืช และสระว่ายน้ำ
ภาพมุมบนของบ้านพักหลังใหญ่ ด้านหลังเป็นพื้นที่ปลูกพืช และสระว่ายน้ำ

นอกจากระบบผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว ภายในบ้านผีเสื้อยังมีการจัดการระบบน้ำที่ดี โดยจะกักเก็บและบำบัดน้ำฝน เพื่อลดการพึ่งพาแหล่งน้ำจากภายนอก ซึ่งน้ำส่วนนี้จะถูกนำไปใช้ในการทำสวนและนาข้าว เพื่อช่วยลดความจำเป็นในการใช้แหล่งอาหารจากภายนอกที่มักมีการปล่อยมลพิษจากการขนส่ง ส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารและลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกโดยรวมของครัวเรือน

เป้าหมายของการสร้างโครงการบ้านผีเสื้อ นอกจากจะเพื่อเดินตามแพชชั่นของเซบาสเตียน-ยุสตุส ชมิดท์แล้ว ยังเป็นแนวทางสำคัญของการสร้างโซลูชันพลังงานแห่งอนาคต โดยเฉพาะสำหรับพื้นที่ห่างไกล หรือพื้นที่ที่จำเป็นต้องพึ่งพาตนเอง อย่างเช่น ที่พักอาศัยบนเกาะ ตลอดจนสามารถพัฒนาโมเดลให้ใหญ่ขึ้น เพื่อใช้พัฒนาในพื้นที่ขนาดใหญ่ อย่างเช่น โรงแรมต่อไป

ภาพมุมบนของอาคารสำหรับแขกผู้มาเยือน
ภาพมุมบนของอาคารสำหรับแขกผู้มาเยือน

นอกจากนี้ บ้านผีเสื้อยังได้มีการจับมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน สถานศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเดินหน้าสร้างองค์ความรู้และสร้างความตระหนักในความสำคัญของพลังงานไฮโดรเจน พร้อมกับออกแบบโครงการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้งานที่แพร่หลายมากขึ้น

“Green Hydrogen” คืออะไร?

ส่วนสำคัญของการพัฒนาโมเดลของบ้านผีเสื้อคือการใช้งาน Green Hydrogen หรือไฮโดรเจนสีเขียว ซึ่งถูกมองว่าเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของวงการพลังงาน

ถังกักเก็บไฮโดรเจนในรูปแบบก๊าซ บรรจุได้สูงสุด 42 กิโลกรัม
ถังกักเก็บไฮโดรเจนในรูปแบบก๊าซ บรรจุได้สูงสุด 42 กิโลกรัม

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า “พลังงานไฮโดรเจน” (Hydrogen, H2) แบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลัก คือ ไฮโดรเจนสีเทา (Grey Hydrogen) ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน (Blue Hydrogen) และ ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) โดยจะแยกจากกันผ่านชนิดของแหล่งพลังงานและวิธีการผลิตไฮโดรเจน อย่าง ไฮโดรเจนสีเทา ก็จะผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน ซึ่งจะมีวิธีการผลิตเช่นเดียวกันกับไฮโดรเจนสีน้ำเงิน แต่สีน้ำเงินจะมีการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ในพื้นดินแทนการปล่อยออกสู่อากาศ ในขณะที่ไฮโดรเจนสีเขียว จะผลิตจากพลังงานหมุนเวียนที่เป็นพลังงานสะอาดจึงไม่มีการปล่อยมลพิษออกมาเลย

ดังนั้น ไฮโดรเจนจึงเป็นพลังงานที่สามารถสังเคราะห์ได้จากวัตถุดิบธรรมชาติหลากหลายชนิด และเมื่อเกิดการเผาไหม้จะปล่อยเพียงน้ำและออกซิเจนเป็นผลพลอยได้ ต่างจากเชื้อเพลิงทั่วไปที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญของภาวะโลกร้อน (Global Warming)

จุดเด่นอีกอย่างของไฮโดรเจน คือ ค่าพลังงานที่สูงกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น ไม่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองหรือมลพิษในอากาศ อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้งานทดแทนพลังงานดั้งเดิมได้หลากหลาย เช่น การผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel cell) ซึ่งเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ทั้งความคุ้มค่าและความยั่งยืนในยุคที่โลกต้องการพลังงานสะอาดมากขึ้น

ปัจจุบัน ไฮโดรเจนถูกพูดถึงในฐานะพลังงานทางเลือกมากขึ้น นอกจากจะใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงแล้ว ก็มีการนำมาใช้งานจริงแล้วในหลายอุตสาหกรรม อย่างเช่น ยานยนต์พลังงานไฮโดรเจน ใน Toyota Mirai และ Hyundai Nexo ใช้พัฒนาเครื่องบินที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ตลอดจนการใช้ไฮโดรเจนเหลวเป็นเชื้อเพลิงสำหรับจรวดในโครงการสำรวจอวกาศ

เครื่อง Hydrogen Electrolyzer ภายในอาคารพลังงาน ส่วนหนึ่งในพื้นที่พักอาศัย
เครื่อง Hydrogen Electrolyzer ภายในอาคารพลังงาน ส่วนหนึ่งในพื้นที่พักอาศัย

อย่างไรก็ตาม ไฮโดรเจนสีเขียวก็ยังมีข้อจำกัดในหลายด้าน เซบาสเตียน-ยุสตุส ชมิดท์ กล่าวว่า ข้อจำกัดหลัก ๆ ที่เขาพบมาคือ “มุมมองของคน” ที่ยังไม่เข้าใจ ไม่เชื่อ และไม่เห็นภาพว่าการใช้พลังงานไฮโดรเจนมีความเป็นไปได้จริง

แม้ว่าวันนี้ ต้นทุนในการผลิตกรีนไฮโดรเจน ต้นทุนในเทคโนโลยีอย่างเครื่อง Electrolyzer จะยังคงสูงอยู่ ต้องอาศัยระบบการกักเก็บพลังงาน ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรง ซึ่งต้องใช้เวลาและต้นทุนที่สูง อีกทั้งประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับเท่าที่ควร ส่งผลให้ยังไม่แพร่หลาย

แต่กระนั้น ก็หวังว่าในอนาคตมุมมองต่อพลังงานไฮโดรเจนจะเปลี่ยนไป ระบบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ก็จะพัฒนามากขึ้น และคาดว่าราคาในตลาดก็จะลดลง เช่นเดียวกับระบบโซลาร์เซลล์ที่ในอดีตเคยมีราคาสูง แต่ปัจจุบันทุกคนจับต้องได้แล้ว

ติดตามเพจ Facebook: Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ