แผนปฏิบัติการ “Nestlé Thailand Net Zero 2050 Roadmap” เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 ของเนสท์เล่ ประเทศไทย โดยวางแนวทางการดำเนินงานครอบคลุมทุกกระบวนการ
ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ใช้พลังงานสะอาด ไปจนถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน
ปัจจุบันนับเป็นปีที่ 4 แผนดังกล่าวกำลังเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรม และคาดว่าจะเห็นความคืบหน้าอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นอีกก้าวสำคัญของเนสท์เล่ในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมไทย
เจนิกา คอนเด ครูซ ผู้จัดการฝ่ายนวัตกรรมองค์กรและความยั่งยืน บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ได้แชร์ข้อมูล Sustainment Consumer หรือผู้บริโภคที่ยั่งยืนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยอ้างอิงข้อมูลเชิงลึกจากผลการศึกษาของ Kantar พบว่า 40% ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม 40% คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และ 20% มีส่วนร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
สำหรับในประเทศไทยพบว่า ผู้บริโภค 76% ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นอย่างมาก 69% พร้อมที่จะลงทุนทั้งเวลาและเงินในบริษัทที่พยายามทำความดี และ 73% เชื่อว่าการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนเป็นการแสดงให้เห็นถึงตัวตนของพวกเขา
อย่างไรก็ดี ยังมีช่องว่างระหว่างในส่วนของการกระทำ โดย 91% ของคนไทยต้องการใช้ชีวิตที่ยั่งยืน แต่มีเพียง 42% เท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างจริงจัง
จากข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า ทางเนสท์เล่จะดำเนินการให้ถึงเป้าหมายโดยฝ่ายเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องเชิญชวนผู้บริโภคมาร่วมมือให้ความใส่ใจด้วยการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงเล็กๆน้อยๆ
แคมเปญ “เล็กน้อยเปลี่ยนโลกได้” จึงถูกเริ่มต้นมา จนปัจจุบันเป็นปีที่ 4 มุ่งสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์คนละเล็กละน้อย เพื่อรวมพลังสร้างการเปลี่ยน แปลงที่มีความหมายให้โลกน่าอยู่ยิ่งขึ้น โดยเนสท์เล่จะลงทุนในการสื่อสารครบวงจรเพื่อให้เข้าถึงคนไทยมากกว่า 20 ล้านคนทั่วประเทศ
ในปีนี้ทางเนสท์เล่ได้เปิดเผยความคืบหน้าของแผนปฏิบัติการสู่ความยั่งยืน ตั้งแต่ฟาร์มสู่ผลิตภัณฑ์ใน 4 มิติ
1.การจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน สำหรับเมล็ดกาแฟได้ฝึกอบรมเกษตรกรกว่า 2,000 ราย เรื่องเกษตรเชิงฟื้นฟู แจกต้นกล้ากาแฟพันธุ์ดีกว่า 4.7 ล้านต้น สนับสนุนการวิเคราะห์ดินให้เกษตรกร 3,800 ราย และส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งในสวนกาแฟกว่า 300 ราย และจำนวน 20% ของเมล็ดกาแฟสดที่ใช้มาจากการเพาะปลูกด้วยการเกษตรเชิงฟื้นฟู ในส่วนน้ำนมดิบได้ส่งเสริมฟาร์มโคนมเชิงฟื้นฟู ลดคาร์บอนกว่า 5,000 ตัน
ในปีที่ผ่านมาเพิ่มปริมาณน้ำนมดิบเฉลี่ยเป็น 13.5 กก.ต่อตัวต่อวัน พร้อมยกระดับคุณภาพโภชนาการของนม ในปีนี้ตั้งเป้าจัดหาน้ำนมดิบจากการเกษตรเชิงฟื้นฟูให้ถึง 20%
พร้อมจะมุ่งส่งเสริมการปลูกกาแฟและการเลี้ยงโคนมตามหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง
2.บริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ดำเนินโครงการ “เนสท์เล่ น้ำรักษ์น้ำ” ในพระนครศรีอยุธยาและสุราษฎร์ธานี ฟื้นฟูแหล่งน้ำ อนุบาลพันธุ์ปลา และจัดกิจกรรมอนุรักษ์น้ำร่วมกับชุมชน
3.บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ลดการใช้พลาสติกใหม่ เปลี่ยนไปใช้พลาสติกรีไซเคิล rPET และ rPE ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้รีไซเคิลได้ 100% เช่น กระป๋องอะลูมิเนียมและซอง Mono Structure และส่งเสริมระบบรีไซเคิล เช่น โครงการ BOTTLE MADE FROM BOTTLES และ Careton กล่องนมรักษ์โลก
4.ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้แผนงาน Net Zero เนสท์เล่ ประเทศไทย สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20% แล้วเมื่อเทียบกับปี 2018 โรงงานและศูนย์กระจายสินค้าของเนสท์เล่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% และปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ ใช้รถขนส่งพลังงานไฟฟ้า ลดระยะทางขนส่งเพื่อลดคาร์บอน
ก้าวต่อไป เนสท์เล่จะยังคงเลือกใช้เทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆที่มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยคาร์บอน เดินหน้าสู่เป้าหมายต่อไป คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 50% ภายในปี 2030
มุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 100% ภายในปี 2050 ต่อไป.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่